พื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดภาคตะวันออก เป็นป่าขนาดใหญ่มีพื้นที่รวม ๑,๓๖๓,๓๒๓.๐๕ ไร่ หรือ ๒,๑๘๑.๓๒ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสระแก้ว ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาคิฌชกูฏ และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาพันธุ์ และเป็นป่ารอยต่อระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ากว่า ๖๐๐ ชนิด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีช้างป่าประมาณ ๔๐๐ – ๔๕๐ ตัว จากที่เคยมีปรากฏอยู่ระหว่าง ๔๐ – ๖๐ ตัว ในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๐ และเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มประชากรช้างป่าสูงที่สุดในประเทศไทย คือร้อยละ ๘.๒ ต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เนื่องจากสภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นป่าดิบที่ราบต่ำ เหมาะกับการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่าประกอบกับการอพยพคนออกจากพื้นที่ใจกลางป่า ทำให้พื้นที่การเกษตรที่ถูกปล่อยทิ้งกลายเป็นทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์กินพืชโดยเฉพาะช้างป่า นอกจากนี้ ช้างป่ายังปราศจากสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ในธรรมชาติ เช่น เสือโคร่ง รวมไปถึงการป้องกันและปราบปรามการล่าสัตว์ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ปัจจุบันพบว่าประชากรช้างป่าบางกลุ่มได้ออกหากินนอกพื้นที่ป่าเนื่องจากในป่ามีอาหารของช้างป่าไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่ารุนแรง มีการสูญเสียทั้งชีวิตคน ช้างป่า และพืชผลทางการเกษตร (กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่าสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ๒๕๖๐)

สาเหตุหลักของปัญหาสามารถสรุปได้ ดังนี้

๑)  ถิ่นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนสภาพ เกิดการบุกรุกขยายพื้นที่ทำกิน
ป่าถูกบุกรุกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ยางพารา ประชาชนอพยพเข้ามาทำการเกษตรในพื้นที่ป่ารอยต่อจนชนเขตป่าและอุทยาน พื้นที่รอยต่อบางแปลงมีการออกเอกสารสิทธิ์ ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของช้างป่าลดลง พื้นที่ทุ่งหญ้าลดลง และป่าที่เหลือเป็นภูเขาสูงชัน ซึ่งไม่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า และมีถนนตัดผ่านพื้นที่อุทยาน

๒) การเพิ่มขึ้นของประชากรช้างป่าในพื้นที่
ปัจจุบันมีช้างป่ากระจายอยู่บริเวณผืนป่าตะวันออก และมีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๒ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มค่อนข้างสูง แต่การล่าช้างเกิดขึ้นน้อยมากเพราะประชากรเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่ควบคุมประชากรช้างป่าได้สูญพันธุ์ไปจากกลุ่มป่านี้

๓) แหล่งน้ำและแหล่งอาหารดึงดูดช้างเข้ามาในพื้นที่
เมื่อพื้นที่ป่าลดลงส่งผลให้แหล่งน้ำเดิมลดลง ช้างป่าจึงเข้าไปใช้แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในชุมชน
และติดใจรสชาติของพืชผลทางการเกษตร เช่น กล้วย ขนุน ทุเรียน ลองกอง มะม่วง ข้าวโพด สับปะรด ยอดปาล์มน้ำมัน มะพร้าว เงาะ ลำไย เป็นต้น

๔) ชนิดของพืช เอื้อให้ช้างป่ามาอยู่อาศัย
ประชาชนส่วนใหญ่นิยมปลูกยางพาราและผลไม้ ซึ่งพืชพันธุ์ดังกล่าว มีสภาพเหมือนป่าที่เอื้อต่อการหลบซ่อนตัวของช้างป่าในชุมชน

๕) การเคลื่อนย้ายถิ่นของช้างป่า
ช้างป่าเจ้าถิ่นจะผลักดันให้ช้างหนุ่มออกจากพื้นที่ ช้างเพศผู้ เมื่อโตเต็มวัยอายุประมาณ ๑๔ ปี จะแยกตัวออกจากโขลง และกลับเข้าโขลงเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์

 


ขยายภาพขนาดใหญ่ ดาวน์โหลด